ธุรกิจทำอะไรได้บ้าง นอกจากการบริจาค


การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการประมวลของ World Economic Forum (A Vision for Managing Natural Disaster Risk, April 2011) ได้จำแนกระยะของการดำเนินการออกเป็น 4 ขั้น คือ การลดหรือการบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Reduction/Mitigation) การตระเตรียมความพร้อม (Readiness/ Preparedness) การเผชิญเหตุ (Response) และการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ (Recovery)

บทบาทของภาคีผู้มีส่วนได้เสียต่อการรับมือกับภัยพิบัติ

แน่นอนว่า บทบาทในการรับมือกับภัยพิบัติ มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาครัฐ แต่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม ที่รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ตลอดจนประชาคมนานาชาติ เพียงแต่ระดับของการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะจะมีความแตกต่างกันออกไป

อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะของการเผชิญเหตุ (Response) ภาครัฐและภาคประชาสังคม (หน่วยกู้ภัยและอาสาสมัครในด้านต่างๆ) จะมีบทบาทความสำคัญที่สุด โดยจะมีการยื่นมือเข้าร่วมช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติเพิ่มมากขึ้นตามมา ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติที่เป็นสากล

สำหรับภาคธุรกิจ ความช่วยเหลือในระยะเผชิญเหตุ จะอยู่ในรูปของการบริจาคเงิน สิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะที่เป็นปัจจัยสี่ จะมีความสำคัญ ทั้งนี้ บทบาทของภาคธุรกิจจะทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วงของการฟื้นฟู (Recovery) ที่ซึ่งความช่วยเหลือจะแปรสภาพจากการบริจาคไปเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เช่น การซ่อมแปลงหรือสร้างใหม่ (Rebuild) ในบริเวณที่ได้รับความเสียหาย การถอนย้ายหรือการหลบหลีก (Retreat) มายังพื้นที่ใหม่

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือของภาคธุรกิจจะดำเนินไปจนกว่าสถานการณ์ภัยพิบัติจะคลี่คลายเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และจะเปลี่ยนมาเป็นการลดหรือการบรรเทาความเสี่ยง รวมถึงการตระเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต นั่นก็เป็นเพราะ “ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว” (Business cannot succeed in a society that fails)


[Original Link]