DRN ในต่างประเทศ


ในหลายประเทศ ได้มีการก่อตัวของเครือข่ายทรัพยากรภัยพิบัติในภาคเอกชน เพื่อรวมกลุ่มกันทำงานระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเอง และทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในการช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ และฟื้นฟูบูรณะหลังเกิดภัยพิบัติ โดยตัวอย่างเครือข่ายในลักษณะดังกล่าว ได้แก่

DRN ประเทศฟิลิปปินส์
เกิดขึ้นในปี 2533 ภายใต้ชื่อ Corporate Network for Disaster Response (CNDR) ในรูปของกลุ่มความร่วมมือของภาคธุรกิจในการรับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ลูซอน ปัจจุบัน CNDR เป็นข่ายงานของกลุ่มธุรกิจ สมาคม บริษัท และมูลนิธิในสังกัดภาคเอกชน จำนวน 42 องค์กร ที่ดำรงความมุ่งมั่นในการจัดการภัยพิบัติของประชาคมธุรกิจอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน ตั้งแต่ การเฝ้าสังเกตการณ์ภัยพิบัติ การระดมอาสาสมัครในภาวะฉุกเฉิน การจัดตั้งรูปแบบของกลุ่มอาสาภัยพิบัติระหว่างองค์กรสมาชิก การเผยแพร่แนวปฏิบัติสำหรับการเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดระบบเผชิญเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดเวทีแก่ผู้บริจาคและการสรุปสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดหาสิ่งบรรเทาทุกข์ และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่สมาชิกที่มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมด้านภัยพิบัติของตนเอง

DRN ประเทศเม็กซิโก
ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 ภายใต้ชื่อเครือข่าย Unidos por Ellos ที่ประกอบด้วยสมาชิกราว 50 องค์กร ที่เป็นบริษัทเอกชน มูลนิธิ และมหาวิทยาลัย ทั้งในเม็กซิโกและต่างประเทศ ร่วมกันให้ความช่วยเหลือต่างๆ (โลจิสติกส์ การจัดการสารสนเทศ ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และการประเมินความเสียหาย) หลังการเกิดภัยพิบัติ โดยการรับสถานการณ์ภัยพิบัติภายใต้ข่ายงานนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ การบรรเทาทุกข์ และการบูรณะ ดูแลโดย 8 คณะทำงาน (สุขภาพ การเงิน โลจิสติกส์ สื่อสาร อาหาร การศึกษา การบูรณะ และงานอาสา) ทำงานเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสมาชิกในกลุ่ม โดยภายใต้คณะทำงานฟื้นฟูบูรณะ ยังได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบูรณะที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ มีการประเมินความต้องการ การกำหนดหลักเกณฑ์ การคัดเลือกครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือ การระบุทำเล การมอบหมายผู้ควบคุมงาน และการดูแลการก่อสร้างที่อยู่อาศัย

DRN ประเทศอินเดีย
ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 โดยการประสานงานของบริษัทก่อสร้างฮินดูสถาน หรือ Hindustan Construction Company (HCC) ร่วมกับ สภาการก่อสร้างอินเดีย (CFI) และได้ดำเนินภารกิจช่วยเหลือและฟื้นฟูมาอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการดำเนินงานของข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติประเทศอินเดีย ประกอบด้วย การจัดฝึกอบรมและการเพิ่มสมรรถภาพของผู้ประกอบการในสาขาวิศวกรรมและการก่อสร้างเพื่อรับสถานการณ์ภัยพิบัติ รวมทั้งการวางโครงสร้างองค์กรและแผนการจัดการในภาวะฉุกเฉินเพื่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติประเทศอินเดีย ได้ร่วมทำงานเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรที่ได้รับอนุญาตในการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ (RedR) ในอินเดีย ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การฝึกอบรมการเผชิญเหตุภัยพิบัติและอำนวยการให้ยืมตัววิศวกรไปช่วยงานในองค์กรด้านมนุษยธรรมหลังการเกิดภัยพิบัติ และด้วยบทบาทการเป็นผู้ประสานงาน DRN ในอินเดีย บริษัท HCC จึงได้ผนวกกิจกรรมของ DRN เข้าไว้ในโครงสร้างขององค์กรในทุกระดับ

DRN ประเทศเกาหลี
ในปี 2546 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศเกาหลี หรือ Federation of Korean Industries ได้ก่อตั้งเครือข่ายที่มีชื่อว่า "Business Network for Disaster Recovery" ที่เกิดจากการรวมตัวโดยสมัครใจของภาคเอกชน ในการให้คำมั่นต่อการจัดหาเครื่องบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูหรือความช่วยเหลือฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ รวมถึงการจัดทำคู่มือและมาตรการป้องกัน การจัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการเผชิญเหตุภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนความจำเป็นของแต่ละองค์กรที่จะต้องมีแผนการจัดการภัยพิบัติระดับองค์กรในการหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบจากภัยพิบัติเพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

DRN ประเทศอินโดนีเซีย
หนังสือพิมพ์ Jakarta Globe ได้รายงานการประกาศความร่วมมือของบริษัทต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ในรูปข่ายงานอิสระของภาคเอกชน โดยการสนับสนุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่จะช่วยชีวิตและบรรเทาทุกข์ประชาชนจากเหตุภัยพิบัติ ด้วยการใช้ทรัพยากรด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง และการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติด้วยศักยภาพทางธุรกิจ ทั้งการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานและโทรคมนาคมต่างๆ สำหรับเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นนี้ มีบริษัท Central Cipta Murdaya Holding (CCM Group) เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย