กลยุทธ์การช่วยเหลือ (Rescue)


กลยุทธ์การช่วยเหลือ (Rescue) จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังการเกิดภัยพิบัติและทอดระยะเวลาไปได้หลายวัน ขึ้นอยู่กับขนาดของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การช่วยเหลือคนเจ็บ ผู้ที่ติดค้าง หรือที่ถูกลอยแพ รวมทั้งการระบุตำแหน่งของผู้เสียชีวิต การปรับสภาพของจุดประสบเหตุให้มีความปลอดภัยต่อการเข้าช่วยเหลือ การเข้าสำรวจจุดหรือตำแหน่งของพนักงานที่ต้องการความช่วยเหลือ การเตรียมปัจจัยพื้นฐานที่ต้องการเร่งด่วน อาทิ น้ำดื่ม อาหาร เวชภัณฑ์ ที่พักพิง ฯลฯ รวมถึงการติดต่อกับครอบครัว การแจ้งข่าวแก่ญาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินผ่านกระบวนงานองค์กร

ความปลอดภัยของบุคลากร
การทราบตำแหน่งที่อยู่ของบุคลากรเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะกับบุคลากรที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย หรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ประสบภัย ที่องค์กรต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในการเคลื่อนย้ายหรืออพยพ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อบุคลากรจะเป็นประโยชน์ต่อการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม

การมีส่วนร่วมของพนักงาน
พนักงานจะเป็นบุคลากรที่สามารถเข้าร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนขององค์กร ตั้งแต่การให้เงินช่วยเหลือสมทบ การเชื่อมโยงทางเว็บไซต์ไปยังหน่วยกู้ภัยเพื่อร่วมบริจาค การให้วันหยุดพนักงานเพื่อจัดกิจกรรมระดมทุน หรือการเปิดระบบบริจาคโดยการหักบัญชีเงินเดือนพนักงาน

ลูกค้าและผู้ส่งมอบ
เปิดโอกาสให้ลูกค้าและผู้ส่งมอบ สนับสนุนด้วยการระดมเงินช่วยเหลือ ผ่านทางการใช้แต้มสะสม หรือการบริจาคในอัตราร้อยละของค่าสินค้าที่จำหน่าย หรือกิจกรรมระดมทุนร่วมระหว่างองค์กร

การประเมินผลกระทบภายในองค์กร
การสื่อสารในองค์กรกับบุคลากร และกับหน่วยประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินผลกระทบความเสียหาย และความจำเป็นในการช่วยเหลือให้แก่ทีมช่วยเหลือ ข้อมูลที่สำคัญอย่างเช่น พื้นที่ และจำนวนบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นประโยชน์ต่อทีมเผชิญเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการดำเนินความช่วยเหลือร่วมกับบริษัทอื่น สามารถล่วงรู้ข้อมูลที่จำเป็นในภาคสนาม เช่น ระดับการเข้าถึงของหน่วยกู้ภัยและหน่วยปฏิบัติการอื่นๆ ในพื้นที่

--------------------------

การให้และกิจกรรมเพื่อสังคม

การข่วยเหลือทางการเงิน
การสนับสนุนทางการเงินโดยบริษัท จะมีความจำเป็นสูงในระยะแรกและเป็นระยะเร่งด่วน โดยการบริจาคเงินจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมากในระยะนี้

บุคลากรทางการแพทย์
บริษัทที่มีบุคลากรทางการแพทย์ สามารถนำมาให้การช่วยเหลือในปฏิบัติการระยะนี้ได้

สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก
อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ได้รับผลกระทบ และอยู่ใกล้พื้นที่ประสบภัย สามารถใช้เป็นศูนย์อำนวยการ และ/หรือ ที่พักพิง สำหรับทีมช่วยเหลือ รวมทั้งการจัดหาบ้านสำเร็จรูปเคลื่อนย้ายได้ในกรณีที่จำเป็น

ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม
บริษัทสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในการช่วยเหลือให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะน้ำดื่มและระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์

บริการทางการเงิน
ธนาคารสามารถยกเว้นค่าบริการด้านการเงิน และรับจัดการเม็ดเงินบริจาค

กิจการพลังงาน
บริษัทสามารถจัดหาเชื้อเพลิงโดยไม่คิดมูลค่า และการสนับสนุนด้านเทคนิค ให้แก่ทีมช่วยเหลือ

กิจการสาธารณูปโภค
ระบบสื่อสารอาจใช้การไม่ได้ บริษัทซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบการสื่อสารเคลื่อนที่ สามารถจัดหาการสนับสนุนและอุปกรณ์ให้แก่ทีมช่วยเหลือ

ผู้ประกอบการด้านเภสัชกรรมและการดูแลสุขภาพ
บริษัทในสาขาเภสัชกรรมและการดูแลสุขภาพ สามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ยาปฏิชีวนะ

การคมนาคม
บริษัทขนส่งและบริษัทอื่นๆ ที่มีเครือข่ายการกระจายสินค้า สามารถจัดหาการสนับสนุนด้านขนส่งเดินทางให้แก่ทีมช่วยเหลือ ทั้งทางบก (อาทิ รถบรรทุก รถขับเคลื่อนสี่ล้อ) และทางอากาศ

บริการเฉพาะทาง
เช่น บริษัทรักษาความปลอดภัย สามารถจัดทีมกู้ภัยเข้าให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น

ผู้ประกอบการสิ่งทอ
บริษัทสามารถจัดหาเครื่องนุ่งห่ม ผ้าห่ม สำหรับการช่วยเหลือ และความต้องการฉุกเฉิน

ช่องทางการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
ความช่วยเหลือทางการเงินควรได้รับการจัดสรรสู่ช่องทางที่มีขั้นตอนการดำเนินงานชัดเจน หรือหากยังไม่มี ก็ควรส่งไปยังองค์กรในท้องถิ่นที่เข้าให้การช่วยเหลือโดยตรง องค์กรเหล่านี้เป็นได้ทั้งชุดช่วยเหลือในระดับท้องถิ่น ระดับสากล และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เงินบริจาค ควรพิจารณามอบให้แก่หน่วยงานที่มีการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่และมีประวัติการทำงานที่น่าเชื่อถือ

ทีมเผชิญเหตุฉุกเฉิน
บริษัทบางแห่ง มีทีมเผชิญเหตุฉุกเฉิน ซึ่งสามารถพร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยกู้ภัย บริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างและขุดเจาะ มักจะมีความพร้อมในปฏิบัติการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน

--------------------------

การหารือและผลักดันนโยบายรัฐ

การแจ้งองค์กรอื่น
ให้แน่ใจว่าผู้นำธุรกิจในองค์กรอื่น ได้รับการแจ้งข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติ และการเข้ามีส่วนร่วมช่วยเหลือในเหตุภัยพิบัติ

การปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย
หาเวลาในการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสีย (ภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน) ถึงบทบาททางสังคมที่ธุรกิจและผู้นำธุรกิจ สามารถนำการสนับสนุนที่จำเป็นมาให้ สำหรับการช่วยเหลือในระยะดังกล่าว