แนวทางการรับมือภัยพิบัติสำหรับองค์กรธุรกิจ


ความถี่และผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล ในประเทศไทย ภัยจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 ใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า 30,000 ล้านบาท สถานการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2553 ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 16,339 ล้านบาท และในปี 2554 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา สถานการณ์อุทกภัย ได้สร้างผลกระทบกับหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด โดยมีการประเมินตัวเลขความเสียหายเบื้องต้นเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท

ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ จำต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยา และทำให้การดำรงชีวิตและการทำงานกลับคืนสู่สภาพปกติ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และแม้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ที่ภาคเอกชนดำเนินการในรูปของการบริจาคเงิน สิ่งของเครื่องใช้ และการอาสา จะเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเผชิญเหตุ (Response) แต่บทบาทในการฟื้นฟู (Recovery) หลังการเกิดภัยพิบัติ โดยคำนึงถึงการดำเนินผ่านกระบวนงานหลักขององค์กร และประเด็นด้านความยั่งยืนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการช่วยเหลือและการบรรเทาทุกข์ในระหว่างเหตุการณ์

จากสถานการณ์อุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจตระหนักว่า ผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแค่ในประเทศไทย แต่กระทบกับธุรกรรมการค้าทั่วโลกที่อิงไทยเป็นฐานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ กระเทือนซัพพลายเชนทั่วโลก

ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการรับมือกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะการลดความเสี่ยง (Risk Reduction/Mitigation) ซึ่งจะช่วยจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร จากภัย (Hazard) ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ให้พัฒนากลายเป็นภัยพิบัติ (Disaster) อันก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อองค์กร ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการเตรียมพร้อม (Readiness/Preparedness) รับมือภัยพิบัติของบุคลากรในองค์กรไว้ล่วงหน้า

เอกสาร “แนวทางการรับมือภัยพิบัติสำหรับองค์กรธุรกิจ” ฉบับนี้ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรธุรกิจในการวางแผนและพัฒนากลยุทธ์การรับมือภัยพิบัติในแต่ละระยะอย่างเหมาะสม ทั้งการดำเนินผ่านกระบวนงานหลักทางธุรกิจ ในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน การให้และกิจกรรมเพื่อสังคม ภายในชุมชนที่ธุรกิจดำเนินงานอยู่ หรือในชุมชนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการเข้าร่วมหารือและผลักดันในนโยบายสาธารณะต่างๆ ตลอดจนการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับจากการมีส่วนร่วมในการรับมือภัยพิบัติ

หน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันและเวลาทำการ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ดาวน์โหลดเอกสาร "แนวทางการรับมือภัยพิบัติสำหรับองค์กรธุรกิจ"
สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการพิมพ์ซ้ำ (re-print) เพื่อเผยแพร่จำนวนมาก
กรุณาติดต่อ อีเมล:
ในหนังสือฉบับพิมพ์เฉพาะสำหรับหน่วยงาน สามารถเพิ่ม
- สารจากผู้บริหารของหน่วยงาน
- ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) หน่วยงาน