เทรนด์จิตอาสา กลยุทธ์ CSR รับมือภัยพิบัติ


ทิศทาง CSR และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจปี 2555
เตรียมมาตรการรับมือความเสี่ยงใหม่ที่คาดไม่ถึง รู้ก่อน รับมือก่อน
ทิศทางหลัก 2 เรื่องที่ภาคเอกชนต้องเร่งดำเนินการ
10 ข้อที่ผู้นำต้องเร่งสำรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ

ในทุกวันนี้ ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจ ถ้าหากองค์กรนั้นมีเป้าประสงค์ที่ต้องการตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืน นอกเหนือจากเป้าการเติบโตที่เป็นโจทย์ในสนามการแข่งขันทางธุรกิจโดยปกติ

การจับตาแนวโน้มความเคลื่อนไหวของ CSR ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละห้วงเวลา จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อองค์กรธุรกิจในการกำหนดทิศทางและการวางกลยุทธ์ CSR ขององค์กร

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2548 ได้ทำการประมวลทิศทางและแนวโน้ม CSR เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2550 ในปีนี้ ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ถึงทิศทาง CSR ปี 2555 และแนวโน้มการดำเนินงาน CSR ที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ

“เราให้น้ำหนักเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ว่าจะเป็นปัจจัยหลักของการกำหนดทิศทางการทำงาน CSR ของธุรกิจในปีนี้”

ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ อาทิ อุทกภัย หรือแผ่นดินไหวนั้น ไม่สามารถป้องกันหรือจะห้ามมิให้เกิดขึ้นนั้นทำไม่ได้ ทางเดียวที่จะทำได้คือ การเตรียมพร้อมและการหาหนทางในการลดความเสี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาตินั้นๆ ซึ่งต่างจากภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การก่อวินาศกรรม หรือการบริหารวิกฤตการณ์ที่ไร้ประสิทธิภาพจนเกิดเป็นภัยพิบัติขึ้น โดยภัยในลักษณะหลังนี้ สามารถป้องกันและวางแผนจัดการเพื่อระงับมิให้เกิดขึ้นได้

เทรนด์ธุรกิจ: Disaster Recovery และ Risk Reduction
“ทิศทางหลักสองเรื่องที่ภาคเอกชนจะดำเนินการ จากเหตุปัจจัยในเรื่องภัยพิบัติ ก็คือ มาตรการฟื้นฟูหลังการเกิดอุทกภัยในปี 54 และมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

มาตรการฟื้นฟูหลังการเกิดอุทกภัย สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น โรงงานซึ่งอยู่ในนิคมหรือพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย (Damage) จากน้ำท่วม การฟื้นฟูเกิดขึ้นตั้งแต่ภายในองค์กร ในกระบวนการดำเนินงานขององค์กร อาทิ การซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สายการผลิต การจัดการสินค้าคงคลังที่ได้รับความเสียหาย การเยียวยาพนักงานที่ได้รับผลกระทบ การให้ความมั่นใจแก่บุคลากรในส่วนของอาชีพและรายได้ การปรับปรุงข้อตกลงทางธุรกิจที่เกื้อหนุนผู้ส่งมอบและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจที่ถูกกระทบในระยะของการฟื้นฟู ตลอดจนการร่วมฟื้นฟูบูรณะชุมชนที่องค์กรมีถิ่นที่ตั้งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เกิดความสูญเสีย (Loss) ที่คำนวณเป็นมูลค่าทางธุรกิจจากเหตุน้ำท่วม องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้มีส่วนได้เสียและชุมชนที่ได้รับความเสียหาย ตามระดับความเกี่ยวข้องโดยพิจารณาจากที่องค์กรมีแหล่งดำเนินงานโดยตรงในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติหรือไม่ องค์กรมีการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ องค์กรมีสายปัจจัยการผลิตและการกระจายสินค้าในพื้นที่หรือไม่ องค์กรมีการเคลื่อนย้ายพนักงานซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ แม้จะมิได้ส่งผลกับธุรกิจโดยตรงหรือไม่ เป็นต้น

มาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกกิจการไม่ว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากอุทกภัยในครั้งที่ผ่านมา จำเป็นต้องวางแผนสำหรับการเตรียมความพร้อมและการหาหนทางในการลดความเสี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้สามารถสนับสนุน (และชี้นำ) การทำงานขององค์กรในหลายขั้นตอนให้ดำเนินไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยประเมินจากบทเรียนภัยพิบัติในอดีต

เทรนด์จิตอาสา: CSR ผู้บริหาร-พนักงาน
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวอีกว่า แม้ผู้บริหารองค์กรจะเผชิญกับอุปสงค์เช่นที่เคยประสบในภาวการณ์ปกติ แต่ในสถานการณ์หลังภัยพิบัติ ไม่ว่าผู้บริหารจะมีเจตนาที่ดีเพียงใดก็ตาม สภาพการณ์จะมีความซับซ้อนและทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ดีดังที่เคยเป็น เช่น การตัดสินใจที่ต้องทำทันทีโดยขาดข้อมูลที่ครบถ้วน การได้รับข้อมูลรายงานที่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หรือมีสภาพความกดดันจากเหตุการณ์ที่ต้องดำเนินการอย่างปัจจุบันทันด่วน

ในเอกสารของ International Business Leaders Forum (IBLF) ชื่อ “Best Intentions: Complex Realities” ได้ประมวล 10 ข้อคำถามที่ผู้นำองค์กรจำต้องสำรวจและซักซ้อมกับคณะผู้บริหารเพื่อให้แน่ใจว่า องค์กรได้มีการตระเตรียมความพร้อมและมีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล โดยคำถามทั้ง 10 ข้อ ประกอบด้วย

1. เราได้เตรียมพร้อมหรือยัง องค์กรจำต้องดำเนินการคะเนถึงความต้องการและแรงกดดัน รวมทั้งการประเมินผลกระทบที่มีต่อธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและฉับไว

2. เรามีข้อมูลพอที่จะรับมือหรือไม่ องค์กรจำต้องได้ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ทั้งจากผู้จัดการ หัวหน้างาน และหุ้นส่วนธุรกิจที่คลุกคลีอยู่ในภาคสนาม เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินให้มีความแม่นยำ

3. เหตุพิบัติที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อธุรกิจอย่างไร หากองค์กรมีสินทรัพย์ พนักงาน และกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับเหตุพิบัติ และองค์กรย่อมต้องถูกคาดหวังจากพนักงาน สาธารณชน ตลอดจนสื่อมวลชน ให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด

4. เราจะเข้าช่วยเหลือให้ดีที่สุดได้อย่างไร องค์กรสามารถเข้าดำเนินการโดยตรงในพื้นที่ผ่านทางหน่วยธุรกิจหรือจะใช้วิธีให้การสนับสนุนช่วยเหลือในระยะไกล ทั้งนี้ องค์กรจำเป็นต้องตัดสินใจใช้หรือผสมผสานรูปแบบการช่วยเหลือให้มีประสิทธิผลสูงสุด ระหว่างเงินช่วยเหลือ สิ่งของที่คำนวณเป็นมูลค่าเทียบเคียง โลจิสติกส์ หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ

5. เรามีหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลหรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนที่องค์กรเลือกทำงานด้วย หรือที่ส่งการสนับสนุนไปให้ ควรมีความรู้ความจัดเจนพื้นที่และมีสมรรถภาพในการทำงานภาคสนามสมกับเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู

6. ความช่วยเหลือของเราจะส่งทอดต่อในระยะยาวหรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนในการทำงานขององค์กรจำเป็นต้องมีประสบการณ์และความสามารถที่จะจัดการสนับสนุนและฟื้นฟูในระยะยาว หรือมีหุ้นส่วนในท้องถิ่นช่วยดำเนินการให้

7. เราสามารถรับประกันให้มีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้หรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน ควรจัดทำบัญชีและรายงานรายการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนที่ได้รับจากองค์กร รวมทั้งวิธีการและงวดเวลาที่เบิกจ่าย โดยหากเกิดข้อสงสัย องค์กรควรพิจารณาจัดทำข้อผูกมัดแบบมีเงื่อนไข

8. เรามีวิธีในการจัดการให้ความช่วยเหลืออย่างไร องค์กรจำต้องรู้จักผู้ประสานงาน ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ช่องทางการมีส่วนร่วมของพนักงานหรือหน่วยงานในพื้นที่ การดูแลความช่วยเหลือให้เป็นไปตามแผน และการคาดการณ์ล่วงหน้าหากสิ่งที่นำไปช่วยเหลือไม่สามารถนำไปใช้ได้

9. เรามีแนวทางในการดูแลเผยแพร่ข้อมูลที่สาธารณชนสนใจอย่างไร องค์กรจำต้องดำเนินการบริหารงานประชาสัมพันธ์และแง่มุมด้านสื่อตั้งแต่เริ่มต้น รู้จักคุมการคาดหมายทางสื่อในห้วงเวลาที่เป็นเป้าสายตาของสาธารณชน

10. เราได้จัดลำดับความสำคัญอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ องค์กรต้องแน่ใจว่าการให้ความช่วยเหลือและสิ่งที่ดำเนินการไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญอื่นๆ และคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่นต่อการดำเนินงานในวันข้างหน้า (สำหรับพื้นที่ประสบเหตุ ประเทศ ภูมิภาค) และต่อสิ่งสำคัญเร่งด่วนอื่นๆ ในปัจจุบันหรือในอนาคต

นอกจากนี้ ในเอกสาร “The Role of Employee Engagement in Disaster Response: Learning from Experience” ที่จัดทำขึ้นโดย Business in the Community (BITC) และ International Business Leaders Forum (IBLF) ได้ให้แนวทางในการส่งเสริมบทบาทของพนักงานต่อการเผชิญภัยพิบัติไว้ 8 ประการภายใต้ตัวย่อ RESPONSE ดังนี้

Review – พิจารณาทบทวนแผนงานขององค์กรในปัจจุบันและประสบการณ์ที่ได้รับก่อนหน้า การดำเนินการทบทวนและกำหนดนโยบายการเผชิญเหตุภัยพิบัติ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในครั้งต่อๆ ไปขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

Engage – ใช้จุดแข็งและสมรรถภาพหลักในการเข้าช่วยเหลือ การจัดโครงสร้างของแผนผูกพันพนักงานสำหรับตอบสนองภัยพิบัติ โดยการดึงศักยภาพของบรรดาหัวกะทิและประสบการณ์ของพนักงานในบริษัทมาทำงานอาสาที่เหมาะสม จะยังประโยชน์ได้มากกว่าการอาสาในแบบทั่วไป

Secure – ขวนขวายเพื่อให้ได้คำมั่นจากผู้บริหารระดับสูง การสนับสนุนทางการเงินในเหตุภัยพิบัติต้องมีแรงโน้มน้าวหลักจากการตัดสินใจของผู้บริหารสูงสุดในองค์กร และเป็นการเพิ่มน้ำหนักในแผนงานตอบสนองภัยพิบัติที่จะดำเนินการ

Prepare – ตระเตรียมนโยบายและวางระบบสนับสนุนแผนผูกพันพนักงานในการตอบสนองภัยพิบัติ อาทิ นโยบายกองทุนช่วยเหลือ เงินสมทบ วันลาพิเศษ ระบบการประเมินความต้องการสำหรับความช่วยเหลือในช่วงภัยพิบัติ การแสวงหาพันธมิตรหรือหุ้นส่วนที่จะดำเนินการ เพื่อที่จะตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผลสูง

Organise – จัดระบบประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย เนื่องจากการปฎิบัติงานในช่วงเผชิญเหตุเต็มไปด้วยความเสี่ยง องค์กรจึงจำเป็นต้องจัดให้มีระบบประเมินฯ การป้องกัน และกรมธรรม์ประกันภัยที่เพียงพอในการรองรับแผนผูกพันพนักงานสำหรับตอบสนองภัยพิบัติ

Negotiate – เจรจาทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรร่วมดำเนินงานอื่นๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานสนับสนุนทั้งการให้บริการ การระดมความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในระยะยาว หลังจากช่วงการเผชิญเหตุผ่านพ้นไป

Structure – จัดระเบียบและโครงสร้างในการเผชิญเหตุ ตามกรอบของบทบาทและความรับผิดชอบในพื้นที่ครอบคลุม อาทิ ในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และในสำนักงานใหญ่ โดยมีการมอบหมายพนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละระดับ สอดรับกับพื้นที่ครอบคลุม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงาน

Evaluate – ประเมินวิธีการดำเนินงานและความช่ำชองในการสื่อสาร ความท้าทายสำคัญขององค์กรในการเข้าช่วยเหลือในช่วงเผชิญเหตุ คือ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ และการรายงานผลการให้ความช่วยเหลือ โดยไม่เพียงแต่การให้ความช่วยเหลือต้องมีประสิทธิผลยิ่งแล้ว การสื่อสารรายงานก็ต้องดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์ด้วย เนื่องเพราะการสื่อสารที่ดีจะช่วยปลุกเร้าให้เกิดความช่วยเหลือและการอาสาของพนักงานภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงและเพิ่มภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับองค์กรที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก จำต้องพิจารณาถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้วยการวางกลไกและระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในอีกมิติหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในเอกสาร “Integrated Flood Risk Management in Asia” ที่จัดทำขึ้นโดย ADPC (Asian Disaster Preparedness Center) และ UNDP ได้ให้ข้อแนะนำในการเข้าให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินแก่องค์กรหรือภาคีต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแก่องค์กรซึ่งเป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก และองค์กรที่เข้าร่วมให้ความช่วยเหลือในระดับต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ

ข้อแนะนำในการเข้าให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน
DoDon't
พิจารณาบริจาคตามคำร้องขอถึงสิ่งที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงการบริจาคสิ่งที่ไม่ต้องการอย่าสันนิษฐานถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเอาเอง
คิดให้ถ้วนถี่ถึงความสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างมีประสิทธิผล ตามคำขอความช่วยเหลือที่เป็นไปตามการประเมินความต้องการขั้นต้นอย่าตอบสนองเพื่อหวังโฆษณาออกสื่อ
กรณีที่ประสงค์จะช่วยเหลือ จัดเตรียมการตอบสนองให้ทันต่อเวลาอย่าไปถึงล่าช้า โดยเฉพาะการค้นหาผู้ประสบภัยและให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เป็นกรณีที่ต้องรีบดำเนินการในช่วงแรกของภาวะฉุกเฉิน
จดบันทึกการให้ความช่วยเหลือต่างๆ พร้อมสำหรับการชี้แจงถึงการตัดสินใจและการดำเนินการอย่าใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นช่องทางในการโฆษณาหรือส่งเสริมการดำเนินการขององค์กร เช่น การจำลองเหตุการณ์ช่วยเหลือเพื่อการประชาสัมพันธ์
ทำการประเมินและวิจัยที่นำไปสู่โครงการซึ่งตอบความต้องการและอยู่ในวิสัยที่องค์กรสามารถดำเนินการอย่าจัดให้มีกิจกรรมความช่วยเหลือตามสิ่งจูงใจที่เป็นตัวเงินจากองค์กรผู้บริจาค และองค์กรที่บริจาคไม่ควรแข่งขันกันเพียงเพื่อสนองความต้องการที่เห็นเด่นชัดสุดในพื้นที่
สร้างโครงข่ายและสื่อกลางสำหรับการติดต่อสื่อสารและสนทนาสองทางอย่ากันผู้ประสบภัยออกจากการวางแผนกิจกรรมให้ความช่วยเหลือและการฟื้นฟู
พิจารณาผลกระทบโครงการที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)อย่าทำลายสิ่งแวดล้อม
คำนึงถึงความสัมพันธ์และโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในชุมชนอย่าสร้างมูลเหตุแห่งความตึงเครียดในชุมชน ด้วยการละเลยโครงสร้างเชิงสังคม
ให้แน่ใจว่าโครงการ ตอบสนองความต้องการของผู้รับ มิใช่ความต้องการของผู้บริจาคอย่าเร่งรัดให้ดำเนินโครงการ โดยปราศจากการประเมินอย่างเข้มงวด
เข้าร่วมรับฟังหารือระดับองค์กรกับภาคีต่างๆ ขึ้นทะเบียนกับองค์กรช่วยเหลือหลักเมื่อมีคำขอ แลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมทั้งการให้ความร่วมมือ การทำงานร่วมกัน และการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนดำเนินงานในส่วนที่เป็นไปได้อย่าเพิกเฉยคำขอของภาครัฐ และองค์กรช่วยเหลือหลักในพื้นที่ประสบภัย
เคารพในวิถีแห่งวัฒนธรรม และพิจารณาถึงข้อกระทบที่มีกับโครงการ อาทิ การออกแบบศูนย์อพยพ รูปแบบที่พักพิงอย่าละเลยบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม อาทิ เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม จารีตทางศาสนา และวิถีชีวิตตามประเพณี
คำนึงถึงความเป็นอยู่ของบุคลากรผู้ให้ความช่วยเหลือ ในด้านการพักผ่อน สุขภาพจิต อาหาร น้ำอย่าให้บุคลากรผู้ให้ความช่วยเหลือ ตรากตรำทำงานจนเกินขีดจำกัด
ตระเตรียมปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานจำเพาะหน้าให้ลุล่วง เช่น การนำอุปกรณ์ที่ถูกต้องและบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสม เข้าให้ความช่วยเหลืออย่าหลงลืมว่าการจัดหาหรือให้ความช่วยเหลือนั้น เป็นจุดมุ่งหมายหลักที่มีต่อผู้ประสบภัย

ทั้งหมดนี้ คือ เทรนด์ธุรกิจ-จิตอาสา-กลยุทธ์ CSR รับมือภัยพิบัติ เพื่อองค์กรธุรกิจต่างๆ ใช้เป็นเข็มทิศในการกำหนดแผนงานและการวางกลยุทธ์ CSR ในองค์กรของตน


[Original Link]